หน้าเว็บ

Healthy Lifetyle

 
        เชื่อเถอะว่า ถ้วยพริกน้ำปลาบนโต๊ะอาหาร มีอานุภาพทำลายล้าง สามารถถล่มประเทศชาติให้ล่มจมกันได้ง่ายๆ หนุ่มสาวผู้นิยมความเค็มอาจร้องทักว่า “เว่อร์” ไปเปล่าเนี่ย แต่นี่เป็นเรื่องจริงค่ะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เล่าให้ฟังถึงปัญหาการ กินเค็ม ที่ระบาดไปทั่วโลกว่า

       เค็มจัดกันทั้งโลกว่า


        ตามปกติ ร่างกายต้องการโซเดียมเพียงวันละ 2 กรัม แต่ถ้าอยู่ในรูปโซเดียมคลอไรด์ (Sodium Chloride) หรือเกลือแกงจะอยู่ที่ 5 กรัม ซึ่งจากการศึกษาพบว่า คนทั่วโลก กินเค็ม มากกว่าที่ควรกินถึง 2 เท่า เช่นเดียวกับคนไทย สำรวจพบข้อมูลว่า เรากินเกลือเฉลี่ยวันละ 10 กรัม มากกว่าที่ควรกินถึง 2 เท่าเช่นกัน

        เมื่อลองคำนวณปริมาณเกลือที่กินในแต่ละวันหลายคนเป่าปากโล่งใจ เพราะทบทวนพฤติกรรมแล้วยืนยันว่า ยังไงๆ ก็กินเกลือไม่ถึง 5 กรัมแน่นอน อย่าชะล่าใจไปนะคะ เพราะคุณๆ อาจกำลังเข้าใจผิดอย่างแรง คุณหมอสุรศักดิ์อธิบายว่า

         ต้องเข้าใจก่อนว่า ” โซเดียมมีหลายรูปแบบ เช่น เกลือแกงซึ่งมีความเค็มจัดเป็นโซเดียมคลอไรด์ ที่อาจไปผสมอยู่ในน้ำปลา ซีอิ๊วขาว บะหมี่สำเร็จรูป “

         ผงชูรสจัดเป็นโซเดียมอย่างหนึ่ง เรียกว่า โซเดียมโมโนกลูตาเมต (Sodium Monoglutamate) แต่ไม่มีรสเค็ม รวมถึงผงฟูก็เป็นโซเดียมเรียกว่า โซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium Bicarbonate) จึงอาจบอกได้ว่า วันๆ หนึ่งเรามีโอกาสได้รับโซเดียมและเกลือเกิน เนื่องจากผสมอยู่ในอาหารหลายชนิด


        อายุน้อยร้อยโรค… ประเทศชาติล่มจม


          อาจารย์สุรศักดิ์ไม่ได้ขู่ให้กลัวเล่นๆ นะคะ เพราะจากการศึกษาในประเทศไทยพบว่า ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ จากเคยพบที่อายุ 35 ปี ลดลงมาเป็น 20 ปี ซึ่งอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ไตวาย อัมพฤกษ์อัมพาต ท่านเล่าต่ออีกว่า “พบผู้ป่วยความดันโลหิตสูงอายุน้อยลง วัย 20 ปีก็เป็นแล้ว พออีก 10 ปีข้างหน้า อายุแค่ 30 ปี อาจป่วยเป็นไตวาย เป็นหัวใจ เบาหวาน ทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียหลายด้าน ทั้งส่วนทรัพยากรบุคคลวัยทำงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศเสียงบประมาณแผ่นดินเพื่อรักษาพยาบาล ตอนนี้งบรักษาผู้ป่วยเฉพาะไตวายซึ่งต้องทำการฟอกเลือดเฉลี่ยปีละหมื่นล้านบาท ซึ่งแนวโน้มผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอีกปีละ 20 เปอร์เซ็นต์ คิดดูว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าเราต้องเสียงบประมาณไม่รู้กี่แสนล้านบาทเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคไต นี่ยังไม่นับรวมโรคหัวใจ เบาหวาน ซึ่งมีสาเหตุมาจากความดันโลหิตสูงด้วยเช่นกัน”

        โรคเรื้อรังหรือโรควิถีชีวิตซึ่งได้แก่ ความดันโลหิตสูง หัวใจ เบาหวาน ไตวาย ล้วนเกิดจากพฤติกรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการกินเค็ม องค์การอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organization) จึงรณรงค์ให้ทุกประเทศสมาชิกลดการกินเค็มลง 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีเป้าหมายว่าจะต้องทำให้สำเร็จใน 30 ปีข้างหน้า องค์การอนามัยโลกชี้แจงว่า หากทำสำเร็จจะช่วยชีวิตคนไว้ได้ปีละหลายแสนคนทีเดียว ทั้งยังประหยัดงบค่ารักษาพยาบาลปีละหลายล้านดอลลาร์ เพราะช่วยลดค่ายาที่ต้องจ่ายให้คนไข้ในกลุ่มโรคดังกล่าวซึ่งต้องกินยาไปตลอดชีวิต

                                 จากนิตยสารชีวจิตปีที่ 15:1กันยายน 2556 ฉบับที่ 358 หน้า 29

2 ความคิดเห็น: