หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2563

กล้วย




                             กล้วย


กล้วย

กล้วยเป็นพืชที่คนไทยคุ้นเคยมาก เราใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของกล้วย ไม่ว่าจะเป็นลำต้น กาบ ใบ และผล แม้แต่ก้านใบ ก็ยังเป็นม้าขี่เล่นที่เด็กๆ ชื่นชอบ
ประวัติของกล้วย
กล้วยมีวิวัฒนาการมาถึง ๕๐ ล้านปี มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดียเป็นประเทศที่ปลูกกล้วยมากที่สุดในโลก และมีพันธุ์กล้วยมาก จนมีผู้กล่าวว่า "กล้วยเป็นผลไม้ของชาวอินเดีย" ต่อมาได้มีผู้นำกล้วยไปปลูกขยายพันธุ์ในทวีปแอฟริกา และอเมริกากลางตามลำดับ จนทำให้ในปัจจุบัน บางประเทศในอเมริกากลางสามารถส่งกล้วยเป็นสินค้าออกที่สำคัญมาก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
  • ลำต้น กล้วยมีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า เหง้า ที่เราเห็นอยู่เหนือพื้นดิน เป็นลำต้นเทียม ประกอบด้วย กาบใบ ซึ่งจะชูก้านใบและใบ เมื่อเจริญแล้ว จะมีใบสุดท้ายก่อนเกิดดอก เรียกว่า ใบธง
  • ดอก กล้วยออกดอกเป็นช่อ ในช่อดอกยังมีกลุ่มช่อดอกย่อย เป็นกลุ่มๆ ระหว่างกลุ่มของช่อดอกย่อย มีกลีบประดับสีม่วงเข้มกั้นเรียกว่า กาบปลี ในช่อดอกย่อยแต่ละช่อมีดอกเพศเมียเรียงซ้อนกันอยู่ ๒ แถว ซึ่งจะเจริญต่อไปเป็นผล ส่วนดอกเพศผู้อยู่ที่ปลายคือ ส่วนที่เรียกว่า หัวปลี
  • ผล กลุ่มดอกเพศเมียเจริญเป็นผลได้โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ กลุ่มผล กล้วย ๑ กลุ่ม  เรียกว่า ๑ หวี ช่อดอกเมื่อเจริญเป็นผล เรียกว่า เครือ บางเครือมีเพียง ๒ - ๓ หวี บางเครืออาจมีมากกว่า ๑๐ หวี ทั้งนี้แล้วแต่พันธุ์กล้วย และการบำรุงดูแล
  • เมล็ด กล้วยบางพันธุ์มีเมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมเล็ก บางพันธุ์มีขนาดใหญ่ มีเปลือกหนา แข็ง สีดำ
  • ราก เป็นระบบรากฝอย แผ่ไปทางกว้าง
  • ใบ มีลักษณะเป็นแผ่นใบใหญ่สีเขียว กว้างประมาณ ๗๐ - ๙๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑.๗ - ๒.๕ เมตร ทั้งปลายและโคนใบมน รูปใบขอบขนาน

การจำแนกกลุ่มของกล้วย
อาจจำแนกได้ตามวิธีรับประทาน และตามลักษณะทางพันธุกรรม หากจำแนกตามวิธีรับประทานก็มีกล้วยกินสด เช่น กล้วยไข่ กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า อีกชนิดหนึ่งมีแป้งมาก และเนื้อแข็ง เมื่อจะรับประทานต้องต้ม เผา ปิ้ง หรือเชื่อมก่อน จึงจะมีรสอร่อย เช่น กล้วยหักมุก กล้วยกล้าย ส่วนการจำแนกกลุ่มของกล้วยตามลักษณะทางพันธุกรรมนั้น พิจารณาจากบรรพบุรุษของกล้วย ซึ่งมี ๒ ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่ กล้วยป่า และกล้วยตานี กล้วยที่มีกำเนิดมาจากกล้วยชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือเป็นลูกผสมของ ๒ ชนิดรวมกัน เกิดเป็นกล้วยพันธุ์ต่างๆ มากมาย



กล้วยไข่
กล้วยที่นิยมรับประทานผลสด : กล้วยไข่
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 30



กล้วยน้ำหว้า
กล้วยที่นิยมรับประทานผลสด : กล้วยน้ำว้า
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 30

พันธุ์กล้วยในประเทศไทย
ในประเทศไทยมีพันธุ์กล้วย ๗๑ พันธุ์ ที่รู้จักกันดี เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยหักมุก กล้วยเล็บมือนาง ฯลฯ ชื่อของกล้วยพันธุ์ต่างๆ นี้ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้นำไปแต่งไว้เป็นกาพย์ฉบัง เพื่อให้เป็นแบบเรียนภาษาไทยในโรงเรียน เมื่อ  พ.ศ. ๒๔๒๗ เป็นบทประพันธ์ที่มีความไพเราะมาก



กล้วยที่นำมาทำอาหาร
กล้วยที่ควรนำมาต้ม เผา ปิ้ง หรือเชื่อมก่อนรับประทาน : กล้วยหักมุก
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 30

การปลูกและการดูแล
กล้วยชอบอากาศร้อนชื้น ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า ๑๔ องศาเซลเซียส จะชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้นดินฟ้าอากาศของประเทศไทย จึงเหมาะแก่การปลูกกล้วยมาก กล้วยชอบดินปนทรายที่มีลักษณะร่วน มีการระบายน้ำและอากาศหมุนเวียนได้ดี หากมีหน่อมากเกินไป ควรเอาออกบ้าง เพื่อมิให้แย่งอาหารจากต้นแม่ ควรเก็บหน่อไว้สัก ๑ - ๒ หน่อ เพื่อให้เป็นตัวพยุงต้นแม่ การกำจัดหน่ออาจใช้เสียมคมๆ หรือมีดแซะลงไป หรือใช้มีดตัดแล้วคว้านหน่อที่อยู่เหนือดิน แล้วหยอดน้ำมันก๊าดที่บริเวณจุดเจริญ เพื่อยับยั้งการเจริญต่อไป ถ้ากล้วยอยู่ระหว่างออกดอกไม่ควรแซะหน่อ เพราะจะกระทบกระเทือนถึงต้นได้  กล้วยเป็นพืชที่ต้องการธาตุอาหารมาก จึงควรบำรุงโดยใส่ทั้งปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก และปุ๋ยเคมีด้วย ตั้งแต่เริ่มต้นปลูก ๒ เดือนแรก ให้ปุ๋ยยูเรียเดือนละ ๑ ครั้ง เพื่อให้ได้ไนโตรเจน เดือนที่ ๓ และ ๔ ให้ปุ๋ยสูตร ๑๕ - ๑๕ - ๑๕ เดือนที่ ๕ และ ๖ ให้ปุ๋ยสูตร ๑๓ - ๑๓ - ๒๑ ปริมาณต้นละ ๑/๒ กิโลกรัม หากกล้วยให้ผลดกมาก จำเป็นต้องใช้ไม้ค้ำยันที่บริเวณโคนของเครือกล้วย เพื่อไม่ให้ต้นโค่นล้มลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น